Search
Close this search box.

เราจะอยู่ร่วมกับ AI ได้หรือไม่: ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) กับผลกระทบต่อสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

[addtoany]

This post was originally published on the Coconet website.

The views expressed in this post do not necessarily reflect the views of the Coconet community, EngageMedia, APC, or their funders. Copyright of the article is held by the author(s) of each article. Check out our Contribution Guidelines for more information. Want to translate this piece to a different language? Contact us via this form.

Read this article in English

แปลไทยโดย ธีรดา ณ จัตุรัส

บทความนี้เป็นบทความที่สองในซีรีย์บทความที่เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่มาจากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ในบริบทของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในประเด็นนี้

จากบทความก่อนหน้านี้ เราได้กล่าวถึงคำนิยามของ AI และ Machine Learning พร้อมทั้งยังได้พิจารณาประเด็นของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว ส่วนในบทความนี้และบทความถัดไป เราจะกล่าวถึงต่อในเรื่องผลกระทบที่มีต่อ 1. สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม (Economic, Social, and Cultural Rights – ESCR) และ 2. สิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Civil and Political Rights – CPR) เพื่อทำความเข้าใจความเชื่อมโยงที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยในบทความนี้จะเน้นถึงผลกระทบที่มีต่อประเด็นสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม (ESCR)

สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม (ESCR) คืออะไร

จากกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant of Economic, Social and Cultural Rights – ICESCR) ซึ่งรวมไปถึงสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การศึกษา ประกันสังคม เงื่อนไขการทำงานที่เหมาะสม คุณภาพชีวิตที่ดี และการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ สิทธิต่างๆเหล่านี้จัดว่าเป็นสิทธิเชิงบวก (positive rights) ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีแนวทางปฏิบัติเพื่อเติมเต็มให้สิทธิเหล่านี้เกิดขึ้น เช่น การจัดหางานที่ดีให้ สิทธิเชิงบวกนี้ตรงกันข้ามกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งจำเป็นต้องมีการละเว้นกระทำและไม่ขัดขวางอันเป็นการละเมิดสิทธิในทางนี้ เช่น การไม่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก

ข้อสังเกตสำคัญก็คือ ความหมายของ ESCR ที่เกี่ยวข้องกับ AI ไม่ได้ตีความแบบสองขั้ว เช่น “ดี” หรือ “เลว” แม้ว่าจะนำหลักการนี้ไปใช้แบบเดียวกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี บางคนได้รับผลดีแต่บางคนอาจได้รับผลกระทบเชิงลบ ตัวอย่างที่เห็นได้คือ การใช้ AI ช่วยในการตัดสินใจเลือกลูกค้าที่มีเครดิตที่น่าไว้วางใจโดยพิจารณาจากชุดข้อมูลเท่าที่มีอยู่ ทั้งนี้อาจจะไม่ได้ส่งผลดีต่อผู้ที่ไม่มีกำลังซื้อมากนัก เพราะกลุ่มคนเหล่านี้อาจจะมีกำลังซื้อน้อยกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูงและทำให้มีข้อมูลประวัติการใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอต่อการวิเคราะห์ถึงประวัติการมีเครดิตที่น่าไว้วางใจ แต่การใช้ชุดข้อมูลอื่นที่มีขอบเขตกว้างขวางกว่าประวัติเรื่องเครดิตก็อาจทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติจากการใช้ชุดข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือบางครั้งอาจเกิดการใช้ข้อมูลโดยพลการ เช่น กรณีที่ใช้ AI มาวิเคราะห์และให้ผลคะแนนต่ำถ้าผู้สมัครคนนั้นพิมพ์อักษรตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด (all-caps) ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อค่าเริ่มต้น

บทความนี้จะมองผลกระทบของ AI ที่มีต่อ ESCR แบ่งออกมาเป็น 2 แบบ คือ 1. ผลกระทบเมื่อไม่ใช้ AI เพื่อการพัฒนา และ 2. ผลกระทบทางลบจากการใช้ AI

ประโยชน์ด้านการพัฒนาของ AI

หากใช้ AI แบบมียุทธศาสตร์และเป็นไปอย่างเหมาะสมแล้วย่อมสามารถเพิ่มผลประโยชน์ได้ ทางการพัฒนาอย่างมหาศาล รวมไปถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย แต่ความเป็นจริงแล้ว AI ยังสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในอีกหลายด้าน เช่นเดียวกับตัวอย่างดังต่อไปนี้ที่ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีได้ช่วยให้เกิดผลสำเร็จด้านการพัฒนาได้อย่างไรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  • ด้านสุขภาพ: ในสิงคโปร์ บริษัท start-up ที่ชื่อว่า Kronikare ร่วมมือกับ AI Singapore พัฒนาระบบที่ช่วยรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และวินิจฉัยบาดแผลที่มีสภาพเรื้อรัง ระบบนี้ได้มีการใช้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งในโรงพยาบาลและบ้านพักผู้สูงอายุบางแห่งในสิงคโปร์
  • ด้านการจราจร: ในกัวลาลัมเปอร์ บริษัท Malaysia City Brain ร่วมมือกับบริษัท Alibaba, Malaysia Digital Economy Corporation และสภาเมืองของกัวลาลัมเปอร์ ได้ตั้งเป้าในการลดการจราจรที่ติดขัดในเขตเมือง โดยบริษัท City Brain ในเมือง Hangzhaou ประเทศจีน ได้ริเริ่มใช้โครงการนี้ไปแล้วและทำให้บริหารสภาพคล่องทางการจราจรเร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 15% ในบางพื้นที่
  • ด้านการศึกษา: แพลตฟอร์มเพื่อการศึกษาที่ชื่อว่า Ruangguruในอินโดนีเซีย ช่วยให้นักเรียนและครูสามารถดำเนินการเรียนการสอน พร้อมทั้งมีวิดีโอสื่อการสอนในหลายวิชา และยังได้ใช้ AI เพื่อการออกแบบบทเรียนที่เฉพาะเจาะจงสำหรับนักเรียนได้ โดยสามารถรองรับนักเรียนได้ประมาณ 15 ล้านคน และ 80% ของนักเรียนกลุ่มนี้อาศัยอยู่นอกเขตเมือง
  • ด้านความมั่นคงทางอาหาร: ในเวียดนาม บริษัท start-up หลายแห่งกำลังใช้ AI และระบบเซ็นเซอร์ของ Internet of Things (IoT) เพื่อเพิ่มการผลิตทางการเกษตร การประหยัดการใช้น้ำ และการให้ปุ๋ย บริษัท start-up ที่ชื่อว่า Sero ระบุว่าถึง 70% – 90% ของความแม่นยำในการจำแนกชนิดโรคของพืชได้ถึง 20 ชนิด ซึ่งทำให้สามารถลดปริมาณความเสียหายในการปลูกพืชลงไปได้

แต่เมื่อพิจารณาทั้งหมด 11 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นต่างมีความไม่เท่าเทียมกันในระดับการประยุกต์ใช้และความสามารถในการใช้ AI ความไม่เท่าเทียมกันนี้เห็นได้จากรายงาน AI Government Readiness Index ซึ่งจัดทำโดยศูนย์วิจัย Oxford Insights and the International Development โดยได้จัดลำดับรัฐบาลต่างๆโดยพิจารณาจากความพร้อมในการใช้ AI ทั้งในด้านบริหารรัฐกิจและการส่งมอบงาน จากการจัดลำดับในรายงานฉบับนี้ระบุว่า ประเทศสิงคโปร์ถือเป็นผู้นำในระดับโลก ส่วนอีก 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ติดอยู่ใน 100 อันดับประเทศที่รัฐบาลมีความพร้อมในการนำ AI มาใช้งาน ได้แก่ มาเลเซีย (อันดับ 22), ฟิลิปปินส์ (อันดับ 50), ประเทศไทย (อันดับ 56), อินโดนีเซีย (อันดับ 57) และเวียดนาม (อันดับ 70)

โดยประเทศที่ได้รับการจัดลำดับให้อยู่ในอันดับต้นๆนั้นต่างมียุทธศาสตร์แห่งชาติหรือกำลังร่างขึ้นมา โดยตั้งเป้าหมายในเรื่องการสนับสนุนการพัฒนา AI ให้เกิดขึ้นภายในประเทศของตน เพื่อจะเป็นข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีและมุ่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา AI เพื่อขับเคลื่อนความคิดริเริ่มต่างๆทางด้านการพัฒนา AI กรณีประเทศสิงคโปร์มียุทธศาสตร์เรื่องปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ (National Artificial Intelligence Strategy) ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การเป็นผู้นำในด้านการพัฒนา AI ภายในปี 2573 นี้ ยุทศศาสตร์นี้ยังได้ทำให้ระบบนิเวศของ AI มีความเข้มแข็งยิ่งขี้น ทั้งยังได้เสนอความช่วยเหลือทางการเงินมากกว่า 500 ล้านดอลล่าร์สิงคโปร์ ส่วนประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นที่มีนโยบายทางด้านการพัฒนา AI เช่น ประเทศมาเลเซีย (ซึ่งมีกรอบแนวทางปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ หรือ National AI Framework ในปี 2563 และนโยบายทางด้านข้อมูลและ AI แห่งชาติ หรือ National Data and AI Policy ที่ได้รับการเสนอในคณะรัฐมนตรี) และประเทศอินโดนีเซีย (ที่ตั้งเป้าไปที่การสร้างกลยุทธ์ปัญญาประดิษฐ์ให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 นี้)

ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆกลับยังคงต้องเผชิญความท้าทายในเรื่องการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต เช่น ติมอร์-เลสเต ที่มีสัดส่วนประชากรที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพียง 30.3% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่วนประเทศเมียนมามีจำนวน 33.1% และประเทศลาวมีจำนวน 35.4% นั่นทำให้เห็นว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศที่เข้าถึงเทคโนโลยีกับประเทศไม่สามารถเข้าถึงได้

ขณะที่รัฐบาลอาจจะมีความพร้อมที่ช้าในด้านการพัฒนา AI แต่ฝั่งภาคเอกชนกลับเร่งเดินหน้าเพื่อเสนอบริการด้าน AI เพราะต้องการที่จะกระโดดเข้าร่วมกระแส “smart” ซึ่งรวมไปถึงการใช้ AI ในการพัฒนาสินค้าและบริการ ส่วนการเปิดตัวเครือข่ายเมืองอัจริยะแห่งอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network – ASCN)เมื่อปี 2561 ได้มีสมาชิกเข้าร่วมจาก 26 เมืองทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อจะใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาของเมือง ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายของเครือข่ายนี้ยังเน้นไปยังการเชื่อมต่อเมืองเหล่านี้เข้ากับผู้ให้บริการภาคเอกชนที่มีความสามารถในการแก้ปัญหาทางเทคโนโลยี

ในภาพรวมจากแผนการและวิสัยทัศน์ต่างๆ ดูเหมือนจะเป็นความหวัง จากการเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการพัฒนาของเครือข่าย ASCN ที่ต้องการสร้างความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม สุขภาพและคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยสาธารณะ การรักษาสิ่งแวดล้อม การสร้างสาธารณูปโภค รวมทั้งอุตสาหกรรมและนวัตกรรมใหม่

ความเสี่ยงซึ่งอาจเกิดจาก AI ที่ส่งผลกระทบต่อ ESCR

ประโยชน์ด้านการพัฒนาที่เกิดจาก AI นั้นย่อมขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ นี่คือจุดที่มีความเสี่ยงมากมาย แม้ว่าจะยังไม่มีกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยและอันตรายจากการใช้ AI ในภูมิภาคของเรา เพราะนี่ถือเป็นช่วงเริ่มแรกของการพัฒนาทางเทคโนโลยีทว่าพวกเรายังคงต้องจับตาดูปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ เพื่อเรียนรู้และเท่าทัน

เช่นกรณีตัวอย่างที่ปรากฏในบทความที่มีชื่อว่า Automating Poverty ของ The Guardian เล่าถึงผลกระทบที่เกิดในประเทศอินเดีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย จากการใช้ระบบ AI ที่มีความสามารถในการตัดสินใจด้วยตัวเอง โดยได้นำมาปรับใช้กับระบบประกันสังคม ผลลัพธ์กลับทำให้เกิดการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์และเป็นการลงโทษกลุ่มคนชายขอบมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะกรณีของอินเดียทำให้เห็นผลกระทบที่ตามมาอย่างรุนแรงในการนำ AI ไปใช้ในทางที่ผิดที่เกิดขึ้นในบริบทของประเทศกำลังพัฒนา จากการเปลี่ยนผ่านจากระบบกระดาษไปสู่ระบบดิจิทัลยิ่งทำให้กลุ่มคนยากจนมีความเปราะบางมากขึ้นในเรื่องของการใช้เทคโนโลยี นับตั้งแต่ปัญหาเรื่องไฟดับ ความไม่เสถียรของอินเตอร์เน็ตไปจนถึงการที่ไม่รู้ว่าทำไมตนเองถึงถูกปฏิเสธจากระบบประกันสังคม ทั้งที่ระบบนั้นควรต้องครอบคลุมถึงการคุ้มครองทางสังคมและการขอเงินค่ารักษาพยาบาลคืนแก่คนจน โดยความผิดพลาดต่างๆที่เกิดขึ้นอาจะนำไปสู่ความตายและความหิวโหย

ระบบที่เอนเอียง และการเข้าถึง

การตัดสินใจที่ไม่โปร่งใสเรื่องประกันสังคมด้วย AI จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่อันตรายและสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คน การใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้นี้ยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนา โดยมีอย่างน้อย 2 ด้าน ได้แก่ หนึ่งคือการมีชุดข้อมูลที่ดีพอสำหรับ Machine Learning ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ภูมิภาคนี้ยังขาด เพราะประชากรอีกจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต หรือคุณภาพของข้อมูลยังดีไม่พอ อย่างที่สองคือการที่หลายประเทศในภูมิภาคนี้ยังจำเป็นต้องนำเข้าเทคโนโลยี AI นั่นหมายความว่า วิศวกรที่ออกแบบไม่ได้เข้าใจบริบทภายในประเทศของภูมิภาคนี้ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในบทความชิ้นแรกปัญหาเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาที่อาจกระทบต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน

วิศวกรผู้พัฒนาโดยมากแล้วจะเป็นคนนอกพื้นที่ ซึ่งอาจจะไม่เข้าใจบริบทท้องถิ่นนั้นๆ

เมื่อผู้คนต่างพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงชีวิตทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองแล้ว พวกเขาจึงจำเป็นต้องพึ่งพาความพร้อมใช้งานและความมีเสถียรภาพของเทคโนโลยีด้วย ตามที่กล่าวในข้างต้น เรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างกลุ่มคนที่มีและคนไม่มี ซึ่งกลุ่มคนที่มีข้อจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยีอาจจำเป็นต้องพึ่งพาการใช้เทคโนโลยีที่ไม่ได้ถูกออกแบบให้เข้าถึงและใช้งานได้อย่างสะดวกหรือเหมาะกับการใช้งานในบริบทของตนเอง การเข้าถึงระบบ AI นั้นอาจจะมองได้หลายแง่มุม ซึ่งในภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษาเช่นนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ แต่ก็ต้องใช้เงินลงทุนสูงและบางครั้งอาจจะนำไปใช้งานจริงไม่ได้อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นอาจจะเกิดจากอุปสรรคจากเรื่องของความบกพร่องในเชิงทางกายภาพหรือจิตใจ รวมไปถึงผู้ที่มีระดับการศึกษาน้อย ผู้ที่ไม่ได้มีความเท่าทันเรื่องดิจิทัลหรือแม้กระทั่งการเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ

ปัญหาขั้นพื้นฐานเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องพิจารณาอย่างจริงจังก่อนจะตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการใช้ AI เพื่อหาทางออก

ทุกปัญหาไม่สามารถแก้ไขด้วยเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว

เทคโนโลยีไม่ใช่ยาวิเศษที่ตอบปัญหาได้ทุกปัญหา

ไม่ใช่ทุกปัญหาจะได้รับการแก้ไขด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ตามที่ได้กล่าวถึงในบทความของ The Guardian ที่ได้ยกกรณีศึกษาจากประเทศอินเดีย เพื่อชี้ให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาที่มาจากความไม่มีประสิทธิภาพของระบบที่มีมาก่อนหน้า ซึ่งเป็นเรื่องการทุจริตและการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของผู้บริหารระดับสูง และปัญหาเรื่องบัตรประชาชนปลอมที่เป็นปัญหาของ Aadhaar เมื่อกลายเป็นปัญหาที่ซับซ้อนในเชิงโครงสร้างและการแก้ปัญหาด้วยการใช้เทคโนโลยีอาจทำให้เบี่ยงประเด็นความสนใจในการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงและยังเป็นการสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก

เมื่อมองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ที่มีความกระตือรือร้นอย่างมากที่จะพยายามปรับการใช้ AI กับหลายสิ่ง จนนำไปสู่ออกแถลงการณ์ของผู้นำระดับสูงที่ต้องการสร้างแนวทางในการใช้ AI ในหลายภาคส่วน เช่น ประธานาธิบดีโจโกวีของอินโดนีเซียที่ออกมาประกาศว่า จะใช้การบริหารงานราชการด้วยการใช้ AI แทนเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่รัฐมนตรีศึกษาธิการของมาเลเซียออกมากล่าวว่า จะใช้ Machines มาช่วยให้คำแนะนำทางด้านการวางแผนวิชาชีพให้แก่นักเรียนในอนาคต ซึ่งประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า นี่เป็นวิธีที่เหมาะสมหรือไม่ในการแก้ปัญหาที่ประเทศของตนกำลังเผชิญหน้าอยู่ แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีใหนย่อมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรึกษาหารือกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและการประเมินผลกระทบต่อประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย

ความกังวลเรื่องความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นจากการใช้ AI

ท้ายที่สุด เมื่อมีการพูดถึง AI ในบริบทของภูมิภาคนี้ AI ก็มักจะถูกมองจากมุมของการเพิ่มความเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือไม่ก็ AI จะเข้ามาทดแทนแรงงานคน การมองแบบนี้เปรียบเสมือนมองเหรียญสองด้าน นั่นคือบริษัทเอกชนจะเข้ามาแสวงหากำไรจากการทดแทนแรงงานมนุษย์ด้วย Machines แม้ว่ายังมีแรงงานที่ยังไม่ได้ทดแทนด้วย Machines แต่พวกเราต่างเริ่มเห็นแนวโน้มของระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า gig economy เช่นการเกิดขึ้น Grab และ Go-Jek หรือแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ โดยมากแล้วแพลตฟอร์มเหล่านี้รัฐบาลต่างๆยังไม่มีการออกกฎเพื่อมาควบคุมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ทำให้มีความกังวลในเรื่องการเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน โดยผ่านการที่บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้นำอัลกอริทึมมาปรับใช้

รัฐบาลในอาเซียนส่วนใหญ่มองว่า AI เป็นเหมือนตัวขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากกว่าเป็นการพัฒนาทางสังคม

จากการตั้งข้อสังเกตของเวทีการพูดคุยต่างๆเกี่ยวกับ AI ซึ่งทำให้เห็นว่า หลายรัฐบาลในภูมิภาคาอาเซียนได้ใช้ AI ในฐานะตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจมากกว่าการพัฒนาทางสังคม จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่า การนำ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อการแสวงหากำไรของเจ้าของบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งซึ่งส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้อื่นและโลกของเรา สถานการณ์ที่กล่าวถึงนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในทุกวันนี้ เพียงแต่ AI จะเข้ามาเพิ่มอัตราเร่งที่รวดเร็วกว่าหลายเท่าตัว

บทสรุป

ในเรื่องผลกระทบจาก AI ต่อสิทธิต่างๆในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมนั้น ผู้เขียนได้ให้คำตอบสั้นๆต่อคำถามที่ว่า AI เป็นสิ่งที่ดีหรือเป็นอันตรายในบริบทเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคำตอบก็คือ “ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะนำ AI ไปใช้ทำอะไร” ส่วนภาคประชาสังคมในภูมิภาคนี้ยังคงต้องทำความเข้าใจมากขึ้นและสร้างพื้นที่การถกเถียงร่วมกันในประเด็นนี้ให้มากขึ้น ทั้งในมุมข้อดี ข้อเสีย ความท้าทาย ที่มีต่อเงื่อนไขของแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้

ส่วนคำถามที่ว่า AI จะช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้นหรือแย่ลง หรือความเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว ประเด็นเหล่านี้จะกล่าวถึงในบทความต่อไปที่ชวนคิดถึงเรื่องผลกระทบของ AI ต่อสิทธิพลเมืองและทางการเมือง

เกี่ยวกับผู้เขียน

Dr. Jun-E Tan เป็นนักวิจัยอิสระ อาศัยอยู่ในเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย งานวิจัยและการสนับสนุนของ Jun-E นั้นเกี่ยวกับประเด็นการสื่อสารทางดิจิทัล สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน บทความในปีวิจัยล่าสุดของ Jun-E มีชื่อว่า “สิทธิมนุษยชนทางดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์: กรอบแนวคิดและการสร้างขบวนการเคลื่อนไหว” (Digital Rights in Southeast Asia: Conceptual Framework and Movement Building) ได้เผยแพร่ในหนังสือ open access (สามารถ download เพื่ออ่านได้ฟรี) ที่มีชื่อว่า “การสำรวจความเกี่ยวเนื่องระหว่างเทคโนโลยีต่างๆและสิทธิมนุษยชน: โอกาสและความท้าทายที่หลากหลายในเอเชียอาคเนย์” (Exploring the Nexus Between Technologies and Human Rights: Opportunities and Challenges in Southeast Asia) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ SHAPE-SEA เมื่อเดือนธันวาคม 2562 นอกจากนี้ Jun-E ยังได้เขียนบทความลงในบล็อกของตนเองอยู่เป็นประจำ