Search
Close this search box.

เมื่อ AI กลายเป็นอาวุธที่มีผลกระทบต่อสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

[addtoany]

This post was originally published on the Coconet website.

The views expressed in this post do not necessarily reflect the views of the Coconet community, EngageMedia, APC, or their funders. Copyright of the article is held by the author(s) of each article. Check out our Contribution Guidelines for more information. Want to translate this piece to a different language? Contact us via this form.

Read this article in English

แปลไทยโดย ธีรดา ณ จัตุรัส

บทความนี้เป็นชิ้นที่สามของซีรีย์บทความที่เกี่ยวกับผลกระทบทางสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) ในบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความเดิมจากบทความที่แล้ว เราได้พูดถึงนัยยะสำคัญของ AI ที่มีผลกระทบต่อสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยได้กล่าวถึงประโยชน์ของการใช้ AI ในด้านการพัฒนาหากนำไปใช้อย่างเหมาะสม แต่ยังคงมีความกังวลทางด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของ AI และผลลัพธ์อันไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ในบทความนี้ เราจะมาพิจารณากันในรายละเอียดว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ AI ถูกพัฒนาเพื่อนำมาใช้เป็นอาวุธที่ละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (civil and political rights – CPR) เช่น สิทธิในการมีชีวิตและสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง และรวมทั้งสิทธิในการแสดงออก เสรีภาพของปัจเจกบุคคล สิทธิในการนับถือศาสนา การสมาคม และสิทธิอื่นๆ

ด้วยพื้นที่อันจำกัดในบทความชิ้นนี้ จึงเป็นไม่ได้ที่กล่าวถึงผลกระทบต่อสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้ทุกประเด็น แต่เราจะเน้นถึง 3 ภัยคุกคามหลัก คือ การสอดส่องมวลชนโดยรัฐ (mass surveillance) เทคนิคการเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง และการใช้ AI ในการสร้างข้อมูลที่ตั้งใจผิดหรือทำให้เข้าใจผิด (disinformation) ส่วนผู้ที่สนใจค้นหาเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่รายงานเกี่ยวกับการนำ AI มาใช้ในทางที่ไม่ดีที่ส่งผลกระทบให้เกิดอันตรายทางดิจิทัล ทางร่างกาย และทางความมั่นคงทางการเมือง

AI สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธเพื่อนำมาละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

AI ถูกนำมาใช้เพื่อการสอดส่องมวลชนโดยรัฐบาล

ความเป็นส่วนตัวถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิอื่นๆ เช่น สิทธิทางการแสดงออก การชุมนุม และการรวมกลุ่มสมาคม ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากพิจารณาบรรทัดฐานของประชาธิปไตยของรัฐบาลเกือบทุกประเทศมีแนวโน้มเอนเอียงไปทางฝั่งอำนาจนิยม รัฐบาลเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่าสามารถขยายการปราบปรามผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองอย่างกว้างขวาง เช่น การบังคับใช้กฎหมายที่รุนแรงในการลงโทษ หรือการใช้มาตรการนอกกฎหมายที่มาคุกคามผู้ที่เห็นต่าง

เมื่อพิจารณาความสามารถของ Machine Learning ทำให้การโยกย้ายชุดข้อมูลมหาศาลเป็นเรื่องทำที่ได้ง่ายดายและราคาไม่แพงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นผลทำให้การสอดส่องมวลชนมีราคาถูกลงและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้บุคคลที่มีอิทธิพลสามารถที่จะสืบทอดอำนาจได้ง่ายมากขึ้น

ตารางด้านล่างนี้ได้นำข้อมูลมาจาก AI Global Surveillance Index (AIGS 2019) โดยได้คัดเลือก 7 ประเทศจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซึ่งไม่รวมถึงบรูไน เวียดนาม กัมพูชา และติมอร์เลสเต เนื่องจากไม่มีการเก็บข้อมูล) จากดัชนีนี้ พบว่าเกือบทุกประเทศในภูมิภาคนี้โดยมากจะใช้เทคโนโลยีเพื่อสอดส่องอย่างสองประเภทหรือมากกว่านั้น เช่น ในรูปแบบการใช้เทคโนโลยีการสอดส่องในเมืองอัจฉริยะ (smart city) หรือเมืองที่ปลอดภัย การใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (facial recognition) และวิธีการตรวจตราแบบ smart policing จากดัชนีนี้เรายังพบอีกว่า ประเทศทั้งหมดเหล่านี้ได้นำเข้าเทคโนโลยีเพื่อสอดส่องมาจากประเทศจีน รวมถึงการซื้อเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกาอีกด้วยถึงแม้ว่าจะน้อยกว่าจีนก็ตาม

เพื่อให้ภาพที่กว้างขึ้น มีอย่างน้อย 75 ประเทศใน 176 ประเทศที่ปรากฏอยู่ในรายงาน AIGS 2019 กำลังใช้ AI เพื่อการสอดส่องประชาชน และหลายประเทศก็จัดอยู่ในกลุ่มประเทศแนวเสรีนิยมประชาธิปไตยด้วย โดยดัชนีนี้ไม่ได้แบ่งแยกการใช้ AI แบบที่ถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย แต่เมื่อกลับมาพิจารณาบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคประชาสังคมอาจต้องเตรียมพร้อมในการเฝ้าระวังการใช้ AI เพื่อจุดประสงค์ในการสอดส่องโดยรัฐบาล

รายงานฉบับหนึ่งจาก CSIS ชี้ให้เห็นถึงการใช้ “Safe City” ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ Huawei กลายมาเป็นทางเลือกให้หลายประเทศในกลุ่มที่อยู่ในสถานะไม่มีเสรีภาพ และเป็นที่น่ากังวลว่าประเทศจีนกำลังส่งออกระบอบอำนาจนิยม (authoritarianism) ไปในต่างประเทศ ทางประเทศจีนเองได้ใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทจีนที่มีความเชี่ยวชาญทาง AI อาทิ Yitu, Megvii, SenseTime และ CloudWalk) ซึ่งนำมาใช้ทำโปรไฟล์และติดตามชาวมุสลิมอุยกูร์ และนั่นยังเป็นที่รู้จักกันดีว่าชาวอุยกูร์จำนวนเกือบถึงหนึ่งล้านคนได้ถูกคุมขังในค่ายกักกันแบบเผด็จการเพื่อปรับทัศนคติให้นักโทษ (“re-education camps”) ทำให้เห็นภาพของความเป็นไปได้ที่กลายเป็นข้อกังวลของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการสอดส่องมวลชน

13 ประเทศในภูมิภาคเอเชียมีการสอดส่องทางโซเชียลมีเดีย

นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการสอดส่องโดยรัฐที่รวมไปถึงการสอดส่องผ่านโซเซียลมีเดียและการใช้ AI ในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคล รวมไปถึงเมตะดาต้าจากแพลตฟอร์มของโซเซียลมีเดียต่างๆ รายงาน Freedom on the Net (FOTN) ประจำปี 2562 ระบุว่า 13 ประเทศ จาก 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่กำลังมีการสอดส่องทางโซเซียลมีเดียหรืออยู่ในช่วงที่กำลังพัฒนาโปรแกรม AI เพื่อจุดประสงค์นี้อยู่ แต่รายงานไม่ได้ระบุว่าประเทศไหนจัดอยูในกลุ่มที่กำลังใช้ หรือกำลังพัฒนาโปรแกรม AI นี้อยู่ แต่ก็มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงสำหรับ 8 ประเทศที่อยู่ในรายงานฉบับนี้ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมา ไทย และเวียดนาม

โดยรายงาน Freedom on the Net ยังได้เน้นไปที่ฟิลิปปินส์และเวียดนาม ซึ่งจากรายงานเมื่อปี 2561 เวียดนามได้ประกาศจัดตั้งหน่วยงานแห่งชาติที่มีจุดประสงค์ในการสอดส่องดูแลโดยเฉพาะ โดยมีการติดตั้งเครื่องมือเทคโนโลยีที่ช่วยในการวิเคราะห์ ประเมินผล และคัดกรองโพสต์หลายล้านข้อความจากโซเซียลมีเดีย และในปีเดียวกันนี้ กองทัพสหรัฐฯได้ฝึกเจ้าหน้าที่ทางการของฟิลิปปินส์ เพื่อก่อตั้งหน่วยงานใหม่ที่ไว้สอดส่องทางโซเซียลมีเดีย ซึ่งรายงานระบุว่า หน่วยงานนี้จะป้องกันการแพร่กระจายของข้อความที่บิดเบือนโดยกลุ่มผู้ก่อการร้าย

การสอดส่องทางดิจิทัลโดยรัฐบาลยังมีผลกว้างออกไปนอกจากแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดีย โดยในปี 2561 หน่วยต่อต้านอาชญากรรมแก่เยาวชนบนอินเตอร์เน็ตแห่งมาเลเซีย (Malaysia Internet Crime Against Children – Micac) ที่อยู่ภายใต้สังกัดกรมตำรวจแห่งประเทศมาเลเซีย ได้แสดงความสามารถทางการสอดส่องของหน่วยงานให้แก่นักข่าวท้องถิ่น โดยการติดตามผู้ใช้ที่มีเนื้อหาอนาจารในลักษณะแบบเรียลไทม์ และได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า “ห้องสมุดแห่งข้อมูลของบัญชีผู้ใช้โซเซียลมีเดีย” (data library) นี่ถือเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เช่นเดียวกับแถลงการณ์โดยกลุ่มภาคประชาสังคมใน ASEAN

เทคนิคการเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ภาคประชาสังคมได้มุ่งจับตามองการสอดส่องจากรัฐมากกว่าจากบริษัทเอกชน อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่มาจากการสอดส่องที่ส่งเสริมโดยบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Facebook และ Google อาจจะมีผลกระทบที่เช่นเดียวกับการสอดส่องจากรัฐ หรือแม้แต่การสอดส่องที่ส่งเสริมโดยบริษัทต่างๆ จะมีผลกระทบมากกว่า ลองคิดดูสิว่า เมื่อมีเทคโนโลยี AI เข้ามาเกี่ยวข้องกับข้อมูลมากมายอย่างที่จินตนาการไม่ถึง เทคโนโลยี AI นี่เองที่จะช่วยให้การบริการภาคธุรกิจเพื่อการคาดการณ์และนำมาเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้บริการเพื่อตอบสนองต่อบริษัทโฆษณา ปัญหานี้มีนัยยะที่สำคัญ เมื่อบริษัทโฆษณาทั้งหลายได้ผันตัวเองมาเป็นผู้บริการด้านโฆษณาทางดิจิทัลให้กับกลุ่มการเมืองต่างๆ ซึ่งตั้งเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้คน หรือพฤติกรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และการเปลี่ยนความคิดเห็นสาธารณะหรือพฤติกรรมการเลือกตั้ง ย่อมกระทบต่อสิทธิในการเลือกตั้งของปัจเจกบุคคล

เมื่อ 5 ปีก่อน นักวิจัยหลายคนพบว่า machines สามารถล่วงรู้เกี่ยวกับตัวคุณเองได้ดีกว่าใครๆ ซึ่งเรียนรู้มาจากการที่คุณกด Like บน Facebook นั่นเอง (เพียงแค่ machines ดูจากการที่คุณกด Like จำนวน 300 ครั้งเท่านั้น machines สามารถคาดการณ์จากพฤติกรรมของคุณมากกว่าแฟนของคุณเสียอีก และข้อมูลเพียงแค่จากการที่คุณกด Link จำนวน 10 ครั้งเท่านั้นก็ทำให้ machines ประมวลผลและรู้จักตัวคุณดีกว่าเพื่อนร่วมงานของคุณเสียอีก) นับตั้งแต่ที่มีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับ AI ใน Facebook อย่างกรณีการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการโดยบริษัท Cambridge Analytica ซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการบน Facebook เป็นจำนวนสิบๆล้านคนอย่างผิดกฏหมาย โดยที่บริษัทสามารถเก็บและสร้างข้อมูลของผู้ใช้ Facebook ที่คลิกตอบแบบทดสอบบุคคลิกภาพของ Cambridge Analytica แล้วนำข้อมูลนั้นมาจัดทำโปรไฟล์เกี่ยวกับลักษณะทางจิตวิทยาของผู้บริโภค ทำเกิดการใช้เทคนิคเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง เพื่อมีจุดประสงค์ในการโน้มน้าวการตัดสินใจลงคะแนนเสียงต่อผู้เข้าแข่งชิงตำแหน่งพรรคนั้นๆ หรือที่เรียกว่า microtargeting ด้วยข้อความโฆษณาหลากหลายที่ทำให้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2559 มีความผันผวน ยังมีการกล่าวถึงด้วยอีกว่า กลยุทธ์แบบเดียวกันนี้ได้ถูกนำมาใช้ในการจูงใจผู้เลือกตั้งในสหราชอาณาจักร และส่งผลกระทบต่อผลการลงประชามติจากการออกจากยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit

ด้วยการมีผู้ใช้บริการถึง 2 พันล้านคน Facebook ได้ใช้ข้อมูลมโหฬารเหล่านี้ในการฝึกระบบ Machine Learning เพื่อการทำนายพฤติกรรมต่างๆ ของผู้ใช้บริการ

นับแต่ตั้งแต่ที่ Cambridge Analytica ได้ปิดตัวลง แต่เรื่องอื้อฉาวนี้ได้ทำให้มีการวิจารณ์ถกเถียงเกี่ยวกับโมเดลธุรกิจของบริษัทที่นำการใช้ microtargeting ในการโฆษณาทางการเมือง ผู้วิจารณ์ทางการเมืองได้ชี้แจงว่าทาง Facebook เองก็ได้ใช้โมเดลธุรกิจแบบ microtargeting เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จะต่างก็ตรงที่โมเดลธุรกิจของ Facebook มีขนาดใหญ่กว่าและมีพลังมากว่า ด้วยขนาดข้อมูลผู้ใช้บริการที่มีจำนวนมหาศาลถึง 2 พันล้านคนได้เอื้ออำนวยให้ Facebook สามารถทำโมเดลธุรกิจแบบ microtargeting นี้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น Facebook ได้ใช้ข้อมูลมโหฬารเหล่านี้ในการฝึกระบบ Machine Learning เพื่อการทำนาย เช่น เมื่อผู้ใช้รายบุคคลกำลังจะเปลี่ยนไปใช้สินค้ายี่ห้ออื่นๆ และ Facebook เองยังเปิดให้บริการระบบอัฉริยะที่นำมาทำนายอุปนิสัยการจับจ่ายออนไลน์ของผู้ใช้นี้ให้แก่บริษัทอื่นๆ ที่ยอมจ่ายค่าบริการ นี่แทบจะไม่ต่างกันเลยระหว่างการใช้โมเดลธุรกิจเพื่อการโฆษณา และการโฆษณาทางการเมือง และทำให้ Twitter ได้ประกาศยับยั้งการโฆษณาทางการเมืองแล้ว และ Google เองก็หยุดการใช้ microtargeting ในการโฆษณาทางการเมืองอีกด้วย

จากสถิติ พบว่า 86% ของผู้ที่ใช้อินเตอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีบัญชี Facebook และทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการใช้ microtargeting ที่ส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งหลายๆแห่งภายในภูมิภาคนี้ จากรายงานฉบับหนึ่งซึ่งได้ติดตามประเด็นการบิดเบือนข้อมูลทางดิจิทัลในช่วงการเลือกตั้งกลางเทอมในฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2562 ซึ่งได้ชี้แจงว่า Facebook Boosts (ซึ่งเป็นกลไกทางโฆษณาของ Facebook นั่นเอง) เป็นปัจจัยสำคัญต่อการรณรงค์เลือกตั้งในท้องถิ่น นอกจากนี้ กลไกทางโฆษณาลักษณะ Facebook Boosts นี้ยังได้ถูกนำมาใช้ประชาสัมพันธ์เนื้อหาในแง่ลบเพื่อการโจมตีคู่แข่งทางการเมืองจากฝ่ายตรงข้าม ในอินโดนีเชีย ผู้เชี่ยวชาญได้เตือนเกี่ยวกับการตั้งเป้าพฤติกรรมของผู้เลือกตั้ง และการนำยุทธศาสตร์ต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ microtargeting เพื่อการหาประโยชน์จากข้อมูลส่วนตัวของผู้เลือกตั้งในอินโดนีเชีย และเพื่อส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งในช่วงระยะเวลาการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562

2099120-3f51b5-600x450

เนื้อหาที่สร้างโดย AI ยิ่งเติมเชื้อเพลิงให้กับแคมเปญที่สร้างข้อมูลบิดเบือน

ในยุคดิจิทัล ข่าวลือได้ถูกทำให้มีประสิทธิผลมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ด้วยธรรมชาติของเครือข่ายในการติดต่อสื่อสาร ด้วยเหตุผลนี้ทำให้เกิดการบิดเบือนข้อมูลหรือข่าวปลอม (fake news) ได้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก รวมทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองด้วย ตัวอย่างที่เศร้าใจที่สุด เห็นได้จากการผลกระทบที่ทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของชาวโรฮิงยาในเมียนมา ซึ่งมีรายงานว่าปัญหานี้เกิดมาจากการกระพือข้อมูลที่บิดเบือนและคำพูดที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) บนโซเซียลมีเดีย

ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจแห่งการสร้างข้อมูลที่บิดเบือนยังได้งอกงามภายในภูมิภาคนี้ เช่น ในอินโดนีเชีย แหล่งผลิตข่าวปลอมหลายแห่งถูกใช้ปั่นเนื้อหาออกมาเป็นจำนวนมาก โดยตั้งเป้าโจมตีคู่แข่งทางการเมืองฝั่งตรงข้าม และเพื่อสนับสนุนบริการให้กับลูกค้าของแหล่งผลิตข่าวปลอมนั้นๆ อย่างเช่น ในฟิลิปปินส์ บริษัทประชาสัมพันธ์หลายแห่ง ได้ปลูกฝังค่านิยมในชุมชนออนไลน์พร้อมทั้งได้ใส่ข้อความที่บิดเบือนและข้อความที่เกี่ยวกับการเมือง โดยที่บริษัทเหล่านี้ได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มคนที่มีผู้ติดตามออนไลน์จำนวนมาก (influencers) ในกลุ่มที่มีลักษณะมีความเชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ ทั้งแบบเป็น micro และ nano เมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ดำเนินงานแบบไร้จรรยาบรรณเหล่านี้ได้สร้างโครงสร้างเพื่อการผลิตข้อมูลที่บิดเบือนและกอบโกยกำไร ทำให้การใช้ AI ในธุรกิจประเภทนี้ยิ่งจะสร้างข้อมูลที่บิดเบือนได้ง่ายและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่ากลัวคือสิ่งที่เรียกว่า deepfake โดยมีการสร้างเนื้อหาวิดีโอด้วยระบบ AI หรือรู้จักในว่า “synthetic media” ซึ่งเป็นสื่อแบบผสมผสานรวมทั้งการตัดต่อไฟล์วิดีโอหรือไฟล์เสียงเพื่อทำให้ดูและฟังดูเหมือนราวกับว่ามาจากแหล่งข้อมูลที่แท้จริง เทคโนโลยี deepfake ได้สร้างความจริงในช่วงเวลาหนึ่งที่ยังไม่มีใครสามารถแยกแยะได้ว่านี่ไม่ใช่แหล่งข้อมูลจริง ซึ่งบางทีกว่าจะมีคนรู้ว่าเป็นข้อมูลปลอมก็เป็นผ่านไปเป็นเดือน และด้วยต้นทุนที่ราคาถูกในการผลิตยิ่งทำให้มือใหม่เกิดขึ้นได้ง่ายในการสร้าง deepfake ซึ่งในตอนนี้ได้มีคนนำเทคนิคนี้มาใช้ผลิตคลิปวิดีโออนาจารของเหล่าคนดัง และมีความเป็นไปได้หลายแบบที่ deepfake จะถูกนำมาใช้ในการสร้างข้อมูลที่บิดเบือนภายในภูมิภาคนี้ อย่างน้อยมีหนึ่งในตัวอย่างคือ การที่นักการเมืองในประเทศมาเลเซียผู้หนึ่งอ้างว่า ได้มีคลิปวิดีโอ sex ของเขาถูกผลิตโดย deepfake เพื่อการโจมตีทางการเมือง

คลิปวิดีโอข้างต้นได้อธิบายให้เห็นว่าทำไมเทคโนโลยี deepfake จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลและทำไมพวกเราควรต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ องค์กร WITNESS ได้เก็บรวบรวมแหล่งข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่สนใจประเด็นเกี่ยวการสร้างวิดีโอแบบ deepfake

อีกกรณีคือที่ AI สามารถทำอะไรได้อีกบ้างในการผลิตเนื้อหาที่สมจริงออกมา ในบทความนี้ New York Times ได้เล่าถึงการคลิกเพียงปุ่มเดียว ก็สามารถผลิตคอมเมนต์ทางการเมืองหรือข้อมูลใดๆที่บิดเบือนออกมาได้ อย่างที่พอจะเห็นได้ว่ามีการลงทุนในการสร้างกองกำลังไซเบอร์เพื่อรุมโจมตีความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้ามและหากใช้ machines มาใช้ทดแทนคนจริงๆ เพื่อการผลิตเนื้อหาที่สมจริงออกมาให้ดูเหมือนราวกับว่าเป็นมนุษย์เองที่เขียนข้อความเหล่านั้น ในรายงานอีกฉบับหนึ่งยังได้เตือนถึงความน่ากลัวของการทำข่าวปลอมที่ผลิตโดย AI มาอีกด้วย และระบบนั้นเรียกว่า GROVER ที่สามารถผลิตบทความปลอมที่เขียนขึ้นมาจากพาดหัวข่าวชิ้นเดียวเท่านั้น ทั้งยังสามารถเลียนแบบข่าวต่างๆที่รายงานโดยสำนักงานข่าวชั้นนำอย่าง The Washington Post หรือ The New York Times อีกด้วย

ในยุคที่เรียกว่า “ยุคหลังความจริง” หรือ “post-truth” นั้นยังต้องเผชิญกับอีกหลากหลายความท้าทาย คุณสามารถเช็ครูปถ่ายของใบหน้าของบุคคลต่างๆที่ผลิตโดยคอมพิวเตอร์แล้วอัพโหลดไปบนเว็บไซต์ดังต่อไปนี้ ThisPersonDoesNotExist.com หรือ WhichFaceIsReal.com ลองดูถึงความสมจริงของรูปเหล่านี้ เว็บไซต์เหล่านี้เองยังช่วยผลิตรูปภาพนั้นๆได้อย่างง่ายดายเพื่อนำไปใช้ในโปรไฟล์ปลอมบนโซเชียลมีเดีย

บทสรุป

ดังที่บทความนี้ได้กล่าวไปว่าความสามารถของ AI ได้นำมาใช้ในฐานะที่เปรียบเสมือนอาวุธ เพื่อบรรลุวัตถุจุดประสงค์ที่ขัดกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้ ขณะที่ฝั่งภาคประชาสังคมในภูมิภาคนี้ยังคงต้องคอยจับตามองเพื่อติดตามเทรนด์ของเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันใหม่ๆของ AI เพื่อจะไม่ให้ผู้เล่นอื่นนำไปใช้ในทางผิดแบบที่เราไม่ทันสังเกตเห็น เพราะด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยี Machine Learning และ AI ที่เดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อออกแบบระบอบการกำกับดูแลของ AI และผลักดันให้บริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายต้องมีความรับผิดชอบต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของตน เพื่อมุ่งให้เป็นอาวุธในแบบที่ช่วยปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั่วโลกได้

เกี่ยวกับผู้เขียน

Dr. Jun-E Tan เป็นนักวิจัยอิสระ อาศัยอยู่ในเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย งานวิจัยและการสนับสนุนของ Jun-E นั้นเกี่ยวกับประเด็นการสื่อสารทางดิจิทัล สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน บทความในปีวิจัยล่าสุดของ Jun-E มีชื่อว่า “สิทธิมนุษยชนทางดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์: กรอบแนวคิดและการสร้างขบวนการเคลื่อนไหว” (Digital Rights in Southeast Asia: Conceptual Framework and Movement Building) ได้เผยแพร่ในหนังสือ open access (สามารถ download เพื่ออ่านได้ฟรี) ที่มีชื่อว่า “การสำรวจความเกี่ยวเนื่องระหว่างเทคโนโลยีต่างๆและสิทธิมนุษยชน: โอกาสและความท้าทายที่หลากหลายในเอเชียอาคเนย์” (Exploring the Nexus Between Technologies and Human Rights: Opportunities and Challenges in Southeast Asia) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ SHAPE-SEA เมื่อเดือนธันวาคม 2562 นอกจากนี้ Jun-E ยังได้เขียนบทความลงในบล็อกของตนเองอยู่เป็นประจำ

คุณสามารถอ่าน บทความแรก และบทความที่สองในซีรีย์เดียวกันนี้ที่เกี่ยวกับผลกระทบสิทธิมนุษยชนที่มาจากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ในบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้