Search
Close this search box.

จากพื้นที่ซึ่งไร้เสียงสู่ ‘สัญญะ’ : วิธีการในการใช้ภาษาใหม่ ๆ เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกของคนไทย

อ่านบทความนี้เป็นภาษาอังกฤษ

บทความนี้จัดทำโดย UNTOE กลุ่มเพื่อนสามคนที่ทำงานร่วมกัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Youth Advocacy and Communications for Internet Freedom ของ EngageMedia ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมกับประเด็นด้านสิทธิดิจิทัลในหมู่ผู้สนับสนุนเยาวชนในเอเชียแปซิฟิก


Graphic provided by article author

ในโลกปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกอินเตอร์เน็ต เปรียบเสมือนโลกอีกใบที่สามารถทำอะไรก็ได้ เป็นใครก็ได้ และโทรศัพท์มือถือเปรียบเสมือนอวัยวะที่ 33 ที่งอกใหม่ของมนุษย์

มนุษย์ใช้โลกออนไลน์ในการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ ไลฟ์สไตล์ บ่นเรื่องราวของชีวิต ด้วยความที่ว่าโลกออนไลน์นั้น ไม่ได้จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง จึงทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เชิงด่าทอ ใช้คำหยาบคำรุนเเรงเนื่องจากไม่จำเป็นต้องตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมาเพราะสามารถปกปิดข้อมูลส่วนตัวได้

การโพสต์ข้อความหรือการเเสดงความคิดเห็นมีปรากฏการณ์ในโลกออนไลน์มากมาย หนึ่งในนั้นคือปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง” ที่ชาวเน็ตไทยพร้อมใจขึ้นรถทัวร์ บขส. ไปยังโพสต์ต่าง ๆ เพื่อเสียดสี วิพากษ์วิจารณ์ หรือด่าทอ

ในสังคมปัจจุบันที่โลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสื่อสารและการแสดงออกของประชาชน ปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้บ่อยครั้งคือการใช้คำแทนแทนคำหยาบคาย เช่น การพิมพ์ “ค.” แทนคำว่า “ค*ย” ซึ่งสื่อถึงอวัยวะเพศชายเสียมากกว่า โดยหลายคนมักที่จะไม่พิมพ์รูปคำเต็ม ๆ เนื่องจากโพสต์นั้นอาจจะเกี่ยวข้องกับประเด็นที่อ่อนไหวทางสังคม หรืออาจจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและถูกฟ้องร้องเอาได้

ในขณะที่การแสดงความคิดเห็นและวิจารณ์รัฐบาล ทั้งในโลกออนไลน์หรือต่อหน้า สามารถที่จะหันกลับมาเป็นอาวุธต่อสาธารณชนได้ คนไทยก็ได้ใช้วิธีการทางภาษาอันแสนจะพิเศษเพื่อที่จะสามารถแสดงความเห็นออนไลน์ได้อย่างอิสระต่อไป

ทำความเข้าใจ ค. และ ปรากฏการณ์ ‘ทัวร์ลง’

ตัวอย่างของการใช้การพิมพ์ ค. คือ

หากเราเห็นโพสต์จากรัฐบาลหรือข่าวที่พูดถึงนโยบายของรัฐบาลที่ไม่สมเหตุสมผล โพสต์นั้น ๆ ส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วย การพิมพ์คำว่า ค. ซึ่งในบางครั้งอาจมีการ พิมพ์อธิบายเพิ่มเติมว่า “ค. ความคิดดี” เป็นต้น

โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง “ทัวร์ลง” ผ่าน ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ไว้ว่า  “ปรากฏการณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งในแวดวงของ Social Media ในประเทศไทยในระยะหลังนี้ก็คือสิ่งที่เรียกกันว่า “ทัวร์ลง” ซึ่งก็คือการที่ผู้เล่นหรือผู้ใช้สื่อดิจิทัลสมัยใหม่โดยเฉพาะในทวิตเตอร์(X) จำนวนมากเข้ามาโพสต์และ/หรือมาดู รูป วีดิโอ และเขียนความคิดเห็น”

ในส่วนของ “กล้า สมุทวณิช” ได้เขียนบทความ “เหรียญสองหน้าของปรากฏการณ์ ‘ทัวร์ลง’” ในเว็บไซต์ ‘มติชน’ ไว้ส่วนหนึ่งว่า

“ปรากฏการณ์ทัวร์ลง” ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือ หรืออาวุธของคนตัวเล็กตัวน้อย ประชาชนธรรมดาที่รวมกลุ่มกันจนได้เป็นกลุ่มใหญ่ โดยไม่ได้นัดหมาย จนมีพลังแรงพอที่จะสอดส่อง ทักท้วง ติติงผู้ใช้อำนาจรัฐ

นอกจากนี้ก็อาจจะช่วยป้องปรามการแสดงออกที่ไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น หรือไม่เคารพในคุณค่าที่สังคมปัจจุบันยอมรับ เช่น การเล่นตลกทางเพศ การเหยียดผิวเหยียดเพศ (ที่บางครั้งมาในรูปของโฆษณาคิดสั้น) รวมถึงการละเมิดสิทธิของผู้คนในเรื่องต่าง ๆ หรือการลุแก่อำนาจของผู้มีสถานะและอำนาจเหนือกว่าที่ปกติแล้วไม่เคยถูกตรวจสอบ เช่น การลงโทษอย่างโหดร้าย หรือผิดกฎหมายในโรงเรียน การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งถ้ามีคนถ่ายคลิปมาได้และมีทัวร์ไปลงแล้วก็รับประกันได้ว่า เป็นอันอยู่ไม่สุขทั้งทบวงกรม

นิยามของ ค.

ซึ่งในกรณีปรากฏการณ์ ‘ทัวร์ลง’ จะปรากฏคีย์เวิร์ดที่มีนัยบางอย่างของกลุ่มคอมเมนท์จำนวนนึง นั้นก็คือ คำว่า ค.

ด้วยความลื่นไหลทางภาษาและความคิดสร้างสรรค์ของชาวเน็ตไทย ทำให้ ค. ถูกตีความได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ความคิดดีมาก , หัวคิดดีมาก หรือแม้กระทั่ง ค*ย แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักทราบกันในฐานะของคำที่สื่อถึงอวัยวะเพศชายเสียมากกว่า โดยหลายคนมักที่จะไม่พิมพ์รูปคำเต็ม ๆ เนื่องจากอาจจะกลัวการถูกฟ้องร้องเอาได้ดังที่เคยกล่าวไป

ซึ่งการกลัวการถูกฟ้องร้องในที่นี้อาจจะไม่ได้เป็นแค่ความกลัวของบุคคลต่อบุคคล แต่นั่นอาจหมายถึงความกลัวของประชาชนต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นปัญหาทั้งในด้านสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งมีกรณีตัวอย่างการฟ้องร้องของรัฐบาลต่อประชาชนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วในอดีต

การใช้ ค. เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนฟ้อง

ดังกรณีของวีระชาติพงศ์ (สงวนนามสกุล) ผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญา ซึ่งถูกทางด้านของ นายอภิวัฒน์ ขันทอง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบและดําเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี

บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่า “จากการโพสต์ข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นนายกรัฐมนตรีโดยการโฆษณา ทำให้นายกฯ ได้รับความเสียหาย เป็นการดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังได้” จากนั้นเจ้าพนักงานสอบสวนได้ทำการเปรียบเทียบปรับเป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท คดีจึงสิ้นสุดลง

เหตุการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบอันซับซ้อนระหว่างการแสดงออก, การวิจารณ์, และผลลัพธ์ที่ต้องพบเจอเมื่อแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะในกรณีที่รัฐบาลมามีส่วนเกี่ยวข้อง

ซึ่งในขณะนั้น จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า คดีนี้นับเป็นคดีที่ 4 แล้ว ที่อภิวัฒน์เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในข้อหาหมิ่นประมาท ซึ่งนี่อาจเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ปัจจัยที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่มักเลือกที่จะแสดงออกโดยการพิมพ์ ค. เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนฟ้องนั่นเอง

ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือ ICCPR ในส่วนที่ 3 (ข้อ 6-27) กล่าวถึงสาระของสิทธิในส่วนที่เป็นสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อาทิ เสรีภาพในการมีชีวิต เสรีภาพจากการถูกทรมาน การห้ามมิให้บุคคลถูกจับกุมตามอำเภอใจ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งการกระทำของรัฐบาลชุดก่อนที่ผ่านมานั้นขัดต่อหลักสากลมาโดยตลอด

หรือในท้ายที่สุดแล้วจากทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา การพิมพ์ ค. อาจจะเป็นเพียงแค่การหลีกเลี่ยงการโดนเซนเซอร์ หรือการโดนแบนจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็เป็นได้ทั้งสิ้น เพราะคำว่า ค*ย ก็อาจเป็นคำพูดสร้างความเกลียดชังตามบรรทัดฐานของแพลตฟอร์มและสังคมส่วนหนึ่ง
แต่แล้วใครกันละที่เป็นคนกำหนดให้คำ(หยาบ)เหล่านี้นั้นเป็น คำพูดสร้างความเกลียดชัง และเมินเฉยต่อเสรีภาพในการแสดงออกของคนอีกส่วนไป

การตามหาพื้นที่อื่นสำหรับการแสดงออก

เว็บไซต์ TIME ได้ระบุว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้รับความไว้วางใจมากขึ้นในการจำกัดขอบเขตการแสดงออกอย่างเสรี แพลตฟอร์มนั้นทั้งสั่ง ,กรอง รวมถึงนำเสนอข้อมูลของโลกใบนี้ แพลตฟอร์มนั้นตั้งกฏเกณฑ์ขึ้นมาว่าอะไรสามารถพูดได้ และอะไรที่ไม่สามารถพูดได้ พวกเขาเป็นทั้งคนอนุมัติและคนสั่งห้าม ทั้งผู้แสดงความคิดเห็นและแนวคิดต่าง ๆ เมื่อพวกเขากระทำสิ่งเหล่านี้นั้น พวกเขาเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะใช้ กฏ หลักการ อคติ และปรัชญาของตน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเรามีทางเลือกระหว่างการควบคุมคำพูดเหล่านั้นหรือว่าจะปล่อยมันไป คำพูดนั้นล้วนถูกควบคุมจากแพลตฟอร์มไปเรียบร้อยแล้ว

บางครั้งจึงทำให้มีการใช้แพลตฟอร์มที่มีข้อจำกัดน้อยกว่า เฟซบุ๊ก นั้นก็คือ เทเลแกรม (Telegram) กลุ่มการเมืองใน Telegram เป็นช่องทางที่ผู้คนสามารถมารวมตัวกันเพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง ในปัจจุบันมีกลุ่มการเมืองใน Telegram อยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล กลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาล และกลุ่มที่สนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ

กลุ่มการเมืองใน Telegram มักมีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมผู้คนที่มีความสนใจทางการเมืองร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็น เพื่อสร้างกระแสการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกเผยแพร่ในสื่อกระแสหลัก

Telegram มีข้อดีหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น

  • ผู้คนสามารถเข้าร่วมกลุ่มได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน
  • สามารถสร้างกลุ่มขนาดใหญ่ได้โดยไม่จำกัดจำนวนสมาชิก
  • สามารถใช้ฟีเจอร์ต่าง ๆ ของ Telegram เช่น แชท ไฟล์แนบ และวิดีโอคอล เพื่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวก

อย่างไรก็ตาม Telegram ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น

  • ข้อมูลข่าวสารในกลุ่มอาจไม่เป็นความจริงหรือถูกบิดเบือน
  • เกิดการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือหมิ่นประมาท
  • เกิดการปลุกปั่นหรือยุยงให้เกิดความรุนแรง

กลุ่มการเมืองใน Telegram ที่มีชื่อเสียงในช่วงปี 2563 ก็คือ “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” ที่มีสมาชิกกว่า 300,000 คน ในเวลาอันสั้น

การส่งเสริมเสรีภาพในการพูด

การที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการเเสดงออกนั้น เราต่างรู้ดีว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนพึงควรกระทำได้ตามความเหมาะสม โดยเฉพาะการที่ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐ หรือการที่ประชาชนสามารถเเสดงความต้องการต่อรัฐเพื่อยกระดับประเทศในทุกมิติตั้งเเต่ฐานราก ถึงเเม้ในบางครั้งรูปเเบบในการเเสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์หรือการเรียกร้องต่าง ๆ จะเป็นไปในเเนวทางที่มีถ้อยคำที่รุนเเรง เเต่สุดท้ายเเล้วรัฐไทยในปัจจุบันได้คำนึงถึงหรือไม่ว่าประชาชนต้องการอะไร ? เเต่กลับมีการปิดกั้นการเเสดงออกบนโลกอินเตอร์เน็ตของประชาชน จนทำให้เกิดการคิดค้นคำที่หลีกเลี่ยงการโดนฟ้องซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่

สุดท้ายเเล้วทางเเก้ไขที่จะทำให้เกิดเสรีภาพในการเเสดงออกทางอินเตอร์เน็ต อาจจะต้องเป็นไปในทางการรวมตัวเพื่อเรียกร้องของประชาชนเพื่อเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้เเก่รัฐบาล เช่น

  • ยกเลิกกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพการแสดงออก กฎหมายที่จำกัดเสรีภาพการแสดงออก เช่น กฎหมายอาญามาตรา 112, 116 และ 326 ถึง 333 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นต้น กฎหมายเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน รัฐควรยกเลิกกฎหมายเหล่านี้หรือแก้ไขให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
  • ส่งเสริมวัฒนธรรมการเคารพสิทธิและเสรีภาพการแสดงออก รัฐควรส่งเสริมวัฒนธรรมการเคารพสิทธิและเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน ผ่านการศึกษา การสื่อสาร และการรณรงค์ต่างๆ ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพการแสดงออกและผลกระทบของการละเมิดเสรีภาพการแสดงออก
  • พัฒนากลไกการตรวจสอบเนื้อหาออนไลน์ รัฐควรพัฒนากลไกการตรวจสอบเนื้อหาออนไลน์ที่เป็นกลาง ถ่วงดุล และเป็นอิสระ เพื่อตรวจสอบเนื้อหาที่อาจละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กลไกดังกล่าวควรมีกระบวนการที่โปร่งใสและตรวจสอบได้
  • ส่งเสริมบทบาทของภาคประชาสังคม ภาคประชาสังคมควรมีบทบาทในการเฝ้าระวังและติดตามปัญหาเสรีภาของโลกออนไลน์ ภาคประชาสังคมสามารถทำงานร่วมกับรัฐและภาคเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเองก็ควรตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของตน และควรใช้สิทธิและเสรีภาพของตนอย่างรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้อื่นด้วย แนวทางเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนและปกป้องเสรีภาพในการพูด

แนวทางการแก้ไขปัญหาเสรีภาพของโลกออนไลน์ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ร่วมกันสร้างสังคมออนไลน์ที่เปิดกว้างและเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน