อ่านบทความนี้เป็นภาษาอังกฤษ
บทความนี้จัดทำโดย ทาไลอา ซึ่งเราระงับการระบุตัวตนเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัย โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Youth Advocacy and Communications for Internet Freedom ของ EngageMedia ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมในประเด็นสิทธิดิจิทัลในหมู่ผู้สนับสนุนเยาวชนในเอเชียแปซิฟิก
หลงใหลศิลปะ ธรรมชาติและผู้คน เชื่อในแรงกระพือปีกของผีเสื้อ
‘มหาวิทยาลัย’ เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของนักศึกษา นอกจากบ้านหรือหอที่ต้องอยู่ ก็มหาวิทยาลัยนี่แหละที่วัยรุ่นวุ่นเรียนต้องมาเป็นประจำ แถมยังเป็นด่านสุดท้ายก่อนจะได้ใช้ชีวิตวัยทำงาน ก้าวเข้าสู่วัยรุ่นตอนปลาย หลายคนจะมองว่ามหาวิทยาลัยคือที่ที่สอนให้มีความเป็นผู้ใหญ่ ให้มีความรู้ มีความคิด พร้อมที่จะทำงานเลี้ยงครอบครัวและตัวเอง
แต่ในศตวรรษที่ 21 ที่เด็กรุ่นใหม่มีมุมมองกว้างขวางมากขึ้นจากสื่อออนไลน์ ข่าวที่เราเห็นบ่อยไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมรับน้องโหด อาจารย์ล่วงละเมิดทางเพศนักศึกษา นักศึกษาถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรมในมหาวิทยาลัย แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวได้ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อเป็นข่าว
บทความนี้เกิดขึ้นเพื่อชวนอ่านเรื่องราวความไม่ปลอดภัยในรั้วมหาวิทยาลัย จากมุมมองของนักศึกษา ชวนทบทวนหน้าที่และบทบาทของมหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาที่มีอำนาจประสาทปริญญาสาขาวิชาต่าง ๆ ในบริบทของยุคสมัยที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและสื่อโซเชียล รายละเอียดที่สามารถระบุตัวตนได้ถูกระงับหรือเปลี่ยนใหม่เนื่องจากวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัย
การแสดงออกไม่เป็นอิสระ นักศึกษาถูกจับตามอง
เมื่อพ.ศ.2564 ที่ผ่านมา มีเรื่องราวเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่คณะผู้บริหารพยายามยึดงานแสดงศิลปะของนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและสถาบันทางสังคม ทำให้เกิดเรื่องราวใหญ่โต ท่ามกลางกระแสที่มีทั้งกลุ่มที่มองว่าเป็นงานศิลปะไม่ควรยึดโดยไม่มีการบอกกล่าวก่อน นักศึกษาไม่ได้ทำอะไรผิด นับเป็นอิสระในการแสดงออก บางกลุ่มก็มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเพราะเกี่ยวโยงกับสถาบันสูงของประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้เห็นว่าหากไม่มีการไลว์ฟสดหรือถ่ายคลิปเหตุการณ์ไว้ นักศึกษาจะรู้เรื่องหรือไม่ว่าใครเข้ามาเก็บงานของตน หรือสามารถทำอะไรเพื่อตัวเองได้บ้าง ความปลอดภัยในการแสดงออกมีมากแค่ไหน ทั้งที่มหาวิทยาลัยอ้างตนว่าเป็นกลางทางการเมือง
ในระหว่างการกำกับดูแลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในช่วงกลางทศวรรษ 2010 มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ออกคำสั่งแก่เจ้าหน้าที่ของตน โดยสั่งไม่ให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองหรือสิ่งใดก็ตามที่ถือว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ วิทยาเขตบางแห่งมีบูธทหารอยู่ภายในสถานที่ของตนด้วย
ตั้งแต่นั้นมา นักเรียนก็เริ่มตั้งคำถามว่าการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองควรเป็นเสรีภาพสำหรับทุกคนอย่างแท้จริงหรือไม่ ที่จริงแล้ว ทุกปีในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ นักเรียนที่เข้าร่วมจะถูกตรวจและถ่ายรูปโดยทหารหรือตำรวจนอกเครื่องแบบอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าพวกเขาจะทราบเรื่องนี้แล้ว แต่นักเรียนก็ได้แต่นิ่งเงียบไว้ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในเรื่องนี้เลย
การรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว
นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ยืนยันความไม่ปลอดภัยของนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ‘การรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว’ เป็นเรื่องราวจากเพื่อนนักศึกษาที่ไม่ประสงค์ออกนามเนื่องจากความปลอดภัย กรณีที่อาจารย์ผู้สอนรายวิชาหนึ่ง ติดต่อนักศึกษาโดยตรงและขอคำอธิบายในการประเมินอาจารย์ที่ส่งผลเสียต่ออาจารย์ โดยหลักสากลที่เป็นที่รู้โดยทั่วกันว่าการประเมินจะไม่เปิดเผยชื่อหรือข้อมูลส่วนบุคคลของนักศึกษาที่ทำการประเมิน แล้วอาจารย์จะทราบได้อย่างไรว่าใครเป็นคนเขียนข้อความประเมินอาจารย์ในครั้งนั้น
เมื่อสิบกว่าปีก่อน มีข่าวการจับกุมนักศึกษาภาคใต้ที่เข้าไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ สามจังหวัดชายแดน โดยตำรวจบุกจับในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว โดยมหาวิทยาลัยก็ออกมาชี้แจงว่านักศึกษาไม่แจ้งมหาวิทยาลัยเรื่องการลงพื้นที่ก่อน และเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาจับกุมโดยไม่ทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับมหาวิทยาลัย
ไม่ใช่แค่ในสถานการณ์ที่รุนแรงเช่นนี้เท่านั้นที่สิทธิของนักศึกษาในความเป็นส่วนตัวจะถูกละเมิดโดยระเบียบการของมหาวิทยาลัย
ระบบติดตามการเข้า-ออกมหาวิทยาลัยและการสวมหมวกกันน็อก ในมหาวิทยาลัยที่เป็นสถานที่เปิด ใครเข้า-ออกก็ได้ ทำให้การลงทะเบียนยานพาหนะหรือแลกบัตรเป็นวิธีการคัดกรองคนเข้าออกเพื่อความปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกันก็เหมือนการละเมิดสิทธิเมื่อมีกิจกรรมตามหานักศึกษาผู้โชคดีที่สวมหมวกกันน็อก เพื่อรับรางวัลจากมหาวิทยาลัย ภาพที่ออกมาจากกิจกรรมคือภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิดที่มีความละเอียดสูง เห็นด้านหลังของคนขับ คนซ้อน ตัวรถมอเตอร์ไซค์และป้ายทะเบียน นำมาเผยแพร่ลงสื่อออนไลน์ เพื่อตามหาเจ้าของรถไปรับรางวัล เหมือนเป็นกิจกรรมที่สนุก แปลกใหม่ แต่ข้อมูลจากภาพนั้นไม่ว่าจะเป็นรูปของนักศึกษา เสื้อผ้า รองเท้า หรือท่าทาง ไปจนสีรถ ป้ายทะเบียน มิจฉาชีพสามารถนำข้อมูลไปใช้ต่อหรือพลิกแพลงได้อีกและยังทำให้เห็นด้วยว่ามหาวิทยาลัยสามารถจับภาพนักศึกษาได้ ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนในพื้นที่
ทั้งยั้งมีเว็บไซต์ที่แสดงทะเบียนรถ ตำแหน่งประตูเข้าหรือออก เวลาแบบเรียลไทม์อีกด้วย และเราก็ไม่ทราบเลยว่ามีการเก็บข้อมูลแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ เอาไปทำอะไร แล้วนักศึกษามีสิทธิเลือกที่จะไม่ให้เก็บข้อมูลนี้หรือไม่ หากมองว่าเป็นการติดตามเพื่อความปลอดภัยของนักศึกษาเอง แล้วทำไมจึงมีนักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่ประสงค์ออกนามเพื่อความปลอดภัย ขับรถเข้ามหาวิทยาลัยแล้วหน้าจอที่แสดงเลขป้ายทะเบียนที่ปกติจะขึ้นสีเขียวคือผู้ที่ลงทะเบียนกับมหาวิทยาลัย สีดำคือผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ ในกรณีนักศึกษาคนนี้จึงขึ้นสีแดง ทุกครั้งเป็นเวลาหลายปี โดยที่ไม่มีเพื่อนคนอื่นเป็นเลย และหาคำตอบไม่ได้ด้วยว่าเพราะอะไร
“เวลาเราขับรถเข้าเป็นสีแดงตลอด เราก็สงสัยมาตลอดมาเป็นปีเลย ถามเพื่อนที่อยู่ด้วยกันก็ไม่เคยเจอ วันนึงก็เลยถามยาม ยามก็บอกว่าน่าจะเป็นคนที่บัตรหมดอายุ แต่เราไม่เคยลงทะเบียนไง”
บทบาทมหาวิทยาลัย กับการปกป้องนักศึกษา
เหตุการณ์ด้านบนเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มีออกสื่อ เป็นข่าว เป็นเรื่องเล่าสู่กันฟังในหมู่นักศึกษา แล้วเรื่องที่เราไม่รู้ ไม่เห็น จะมีเรื่องอะไร อันตรายแค่ไหน ในความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวในรั้วมหาวิทยาลัย ไม่มีใครรู้ได้
แต่ก็จำเป็นต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวบางอย่างไป โดยหวังว่ามหาวิทยาลัยใช้ข้อมูลเหล่านั้นในการดูแลนักศึกษา ไม่ต่างจากการไว้ใจรัฐบาล โรงพยาบาล ธนาคาร หรือหน่วยงานอื่น ๆ ในขณะที่มีข่าวลือเรื่องการขายข้อมูลส่วนตัวให้กับแฮกเกอร์บ้าง ข้อมูลในแอปพลิเคชันหมอพร้อมหลุด มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวประชาชนได้อย่างง่ายดาย หากระบบการทำงานของสถาบันการเมืองการปกครองหรือแม้แต่การศึกษาไม่สามารถตรวจสอบได้ ประชาชนต้องคาดเดากันไปเอง หาทางออกหรือวิธีการป้องกันกันเองอย่างนั้นหรือ ? ยิ่งอยู่ในตำแหน่งที่เล็กหรือเป็นนักศึกษาที่ยังอายุน้อย ไม่มีรายได้ แต่มีภาระหน้าที่ ทำให้การต่อรองและการปกป้องตัวเองมีน้อยลงไปมากกว่าเดิม
ทั้งที่มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่ที่สามารถไว้ใจได้ แหล่งรวมข้อมูลวิชาการและศาสตร์ความรู้หลายแขนง เป็นที่ปลอดภัยสำหรับนักศึกษาและบุคลากร รวมถึงทำตามภารกิจสำคัญที่มีบัญญัติในสารานุกรมภาษาไทยหน้าที่ของมหาวิทยาลัยคือ การผลิตบัณฑิต, การวิจัยและพัฒนา ถือเป็นสถาบันแหล่งรวมความรู้, การบริการทางวิชาการ สุดท้ายการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
จากนี้เราคงต้องมองมหาวิทยาลัยในประเทศและความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวอีกครั้ง ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า ข้อมูลส่วนตัวของเราอาจถูกเก็บหรือถูกคุกคามโดยไม่รู้ตัวและการแฝงตัวของมิจฉาชีพก็ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา พร้อมจับตามองความโปร่งใสขององค์กร เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ปลอดภัยและไว้ใจได้
ดังที่นักเรียนที่มีส่วนร่วมคนหนึ่งกล่าวไว้:
“แม้เป็นคนตัวเล็ก ๆ ก็ควรมีสิทธิให้ความยินยอมและร่วมตัดสินใจเรื่องการให้ข้อมูล รวมไปถึงการตัดสินใจใช้ข้อมูลนั้น ๆ อย่างไรด้วย ถึงสังคมนี้ยังไม่มีประชาธิปไตย แต่อย่างแรกคือมีความโปร่งใสก่อนคือการด่าได้วิจารณ์ได้ เมื่อได้รับข้อมูลที่ไม่ชอบมาพากล”